วิธีเก็บข้าวสารไม่ให้มอดขึ้น หุงอร่อย หอม นุ่ม ฟู
หลายคนคงเคยเจอกับปัญหาเก็บข้าวสารไว้นาน ๆ แล้วมอดขึ้น จะกินก็ไม่กล้า จะทิ้งก็เสียดาย เพื่อช่วยแก้ปัญหากวนใจนี้ เรามีวิธีเก็บข้าวสารไม่ให้มอดขึ้นมาบอกต่อ เพื่อจัดเก็บข้าวได้อย่างปลอดภัย หุงแล้วอร่อยเหมือนเดิม

มอดขึ้นข้าว เกิดจากอะไร ?
มอดข้าวเป็นแมลงขนาดเล็กที่มักพบในธัญพืชต่าง ๆ ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้มอดขึ้นคือวิธีการเก็บรักษาข้าวสารอย่างไม่เหมาะสม ดังต่อไปนี้
เก็บข้าวในที่อับชื้น
หากเก็บข้าวในที่ที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี เช่น ครัวที่ร้อนและชื้น หรือบริเวณที่ใกล้แหล่งน้ำ จะทำให้ข้าวดูดซับความชื้นเหล่านั้นไว้ และส่งผลทำให้มอดเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น อีกทั้งความชื้นยังอาจทำให้เกิดเชื้อราและกลิ่นอับได้
ไม่ได้เก็บข้าวในภาชนะที่ปิดสนิท
การเก็บข้าวสารในภาชนะที่ปิดไม่สนิท เช่น ถุงกระดาษหรือถุงพลาสติกที่ฉีกขาด จะทำให้มอดสามารถเข้ามาในข้าวสารได้ง่าย
ข้าวสารมีไข่มอดอยู่แล้ว
หากซื้อข้าวสารที่มีไข่มอดติดมาอยู่แล้ว เมื่อนำมาเก็บในสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของไข่มอด ในไม่ช้าก็จะเกิดการฟักตัวและกลายเป็นตัวมอด ทั้งยังสามารถขยายพันธุ์ไปยังข้าวสารที่เก็บอยู่เดิมได้ในที่สุด
มอดในข้าวสาร อันตรายหรือไม่ ?
มอดในข้าวสารไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยตรง เพราะตัวมอดไม่ได้เป็นพาหะของโรค แต่การบริโภคข้าวที่มีมอดปะปน อาจส่งผลต่อรสชาติและคุณภาพของข้าว เนื่องจากมอดจะกัดกินเมล็ดข้าว ทำให้ข้าวสูญเสียสารอาหาร และยังปล่อยสารคัดหลั่งที่ทำให้ข้าวมีกลิ่นอับอีกด้วย
ข้าวมีมอด กินได้หรือไม่ ?
สำหรับคนที่สงสัยว่ามอดขึ้นข้าว กินได้หรือไม่ ต้องบอกว่าหากมอดเพิ่งขึ้นไม่นาน จะยังไม่ส่งผลต่อกลิ่นหรือรสชาติของข้าว หากรีบกำจัดมอดออก ก็ยังสามารถนำมาบริโภคได้ แต่ถ้าข้าวมีกลิ่นอับชื้นหรือมีเชื้อราเกิดขึ้น ไม่ควรนำมารับประทาน ให้เททิ้งไป เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
มอดขึ้นข้าวควรทำอย่างไร ? วิธีแก้ปัญหามอดในข้าวสาร
หากพบว่ามอดขึ้นข้าว ยังไม่ต้องกังวลใจไป เพราะว่ามีหลายวิธีที่จะรักษาคุณภาพของข้าวไว้ได้ ดังนี้
นำข้าวสารไปตากแดด
เมื่อมีมอดขึ้นข้าวเป็นจำนวนมาก ควรนำข้าวสารออกมาตากแดด ซึ่งเป็นวิธีธรรมชาติที่ได้ผลดี เนื่องจากความร้อนจากแสงแดดจะทำให้ตัวมอดและไข่มอดตาย โดยควรเกลี่ยข้าวให้บางเป็นระยะ เพื่อให้ความร้อนกระจายทั่วถึง โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงในช่วงที่แดดจัด หลังจากนั้นรอให้ข้าวเย็นลงก่อนนำไปเก็บในภาชนะที่สะอาดและปิดสนิท
นำข้าวเข้าไมโครเวฟ
หากไม่สะดวกนำข้าวสารออกมาตากแดด สามารถนำข้าวสารเข้าไมโครเวฟ โดยใช้ความร้อนอุณหภูมิประมาณ 50-55 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-7 นาที ก็จะช่วยให้ตัวมอดและไข่มอดตายได้ด้วยเช่นกัน
ใส่มะกรูดลงถังข้าวสาร
อีกหนึ่งวิธีในการกำจัดมอดที่ขึ้นข้าว คือนำมะกรูดผ่าครึ่งหรือขูดผิวให้มีกลิ่น วางลงในถังข้าวสาร โดยมะกรูดจะมีน้ำมันหอมระเหยออกมา ส่งกลิ่นที่มอดไม่ชอบ ซึ่งจะช่วยไล่มอดและป้องกันไม่ให้มอดเข้ามาใหม่ได้ แต่ควรเปลี่ยนมะกรูดทุก 1-2 สัปดาห์ เพื่อคงกลิ่นของน้ำมันมะกรูดในถังข้าวสารไว้อย่างสม่ำเสมอ
ใส่พริกแห้งลงถังข้าวสาร
การนำพริกแห้งใส่ในถุงผ้าโปร่งหรือถุงตาข่าย แล้วนำไปวางในถังข้าวสาร จะช่วยไล่มอดได้ดี เนื่องจากพริกแห้งมีสารแคปไซซินที่มอดไม่ชอบ โดยการกำจัดมอดด้วยวิธีนี้ เป็นภูมิปัญญาไทยที่ใช้มาอย่างยาวนานและมีประสิทธิภาพ
ใส่ช้อนสเตนเลสปักลงในถังข้าวสาร
สำหรับวิธีง่าย ๆ ที่สามารถนำมาใช้ไล่มอดได้ คือการนำช้อนสเตนเลส 2-3 คันปักในข้าวสาร โดยให้ส่วนปลายของช้อนชี้ขึ้น ซึ่งช้อนสเตนเลสมีสารโครเมียม คาร์บอน และนิเกิลอยู่มาก ซึ่งสารเหล่านี้จะเข้าไปรบกวนระบบชีววิทยาของมอด จนมอดไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ และหนีออกไปจากข่าวสารจนหมด

วิธีเก็บข้าวสารไม่ให้มอดขึ้น
ถึงแม้การกำจัดมอดขึ้นข้าวจะมีอยู่หลายวิธี แต่การป้องกันตั้งแต่ต้นย่อมดีที่สุด ซึ่งมีวิธีเก็บข้าวสารที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้มอดขึ้น ดังนี้
เก็บข้าวในภาชนะที่ปิดสนิท
สิ่งสำคัญในการเก็บข้าวสารไม่ให้มอดขึ้น คือควรเลือกใช้ภาชนะที่มีฝาปิดสนิทเป็น เช่น โถแก้ว กล่องพลาสติกคุณภาพดี หรือถังสเตนเลส ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้มอดจากภายนอกเข้ามาได้ ทั้งยังช่วยควบคุมความชื้นภายในภาชนะ
นอกจากนี้ ควรเลือกขนาดภาชนะให้เหมาะกับปริมาณข้าวสารที่ต้องการจัดเก็บ เพื่อลดพื้นที่อากาศส่วนเกิน ที่อาจทำให้มีความชื้นเกิดขึ้น
เก็บในที่แห้งและเย็น
ในส่วนของสถานที่เก็บข้าวสารควรเป็นบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ชื้น และไม่โดนแสงแดดโดยตรง หรืออยู่ในบริเวณที่มีความร้อนสูง เช่น ใกล้เตาหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะจะทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพเร็วขึ้น
ซื้อข้าวสารในปริมาณที่เหมาะสม
หากต้องการตุนข้าวสารไว้ในครัวเรือน ควรซื้อสำหรับบริโภคภายใน 1-2 เดือน จะช่วยลดโอกาสที่ข้าวจะเก็บไว้นานจนมอดขึ้นได้ โดยเฉพาะข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มักเก็บได้ไม่นาน ควรซื้อในปริมาณน้อยและบริโภคให้หมดเร็วกว่าข้าวขัดขาว
ทำความสะอาดภาชนะเก็บข้าวเป็นประจำ
เมื่อข้าวสารหมด ก่อนเติมข้าวสารใหม่ ควรทำความสะอาดภาชนะจัดเก็บทุกครั้ง โดยล้างให้สะอาดและตากให้แห้งสนิท เพื่อกำจัดความชื้นและเศษข้าวเก่าที่อาจมีไข่มอดหรือเชื้อราตกค้างอยู่ การทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอจะช่วยตัดวงจรการเกิดมอดและรักษาคุณภาพข้าวได้ยาวนานขึ้น
หลังจากกำจัดมอดออกจากข้าวหมดแล้ว ข้าวก็ยังสามารถหุงให้อร่อยได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะเมื่อใช้หม้อหุงข้าวระบบ IH ที่ให้ความร้อนสม่ำเสมอ ทำให้ข้าวสุกทั่วถึง นุ่มฟู และหอมอร่อย เช่น หม้อหุงข้าว IH จาก Zojirushi ที่มีเทคโนโลยีการหุงข้าวอันทันสมัย ช่วยรักษาคุณค่าและรสชาติของข้าวได้อย่างดีเยี่ยม สามารถสั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่เว็บไซต์ Official พร้อมรับโปรโมชันพิเศษประจำเดือนที่สั่งซื้อ
ข้อมูลอ้างอิง
- Rice Weevils: How to Identify, Prevent, and Eliminate These Pests. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2568 จาก https://aptivepestcontrol.com/pests/beetles/granary-rice-weevils/rice-weevils-how-to-identify-prevent-and-eliminate-these-pests/